การปลูกผักอินทรีย์


อะไรคือ...เกษตรอินทรีย์

        การทำการเกษตรอินทรีย์ หมายถึง ระบบการผลิตพืชที่ปลอดจากการใช้สารเคมีทุกชนิดทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยเคมี สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ฮอร์โมนสังเคราะห์ เป็นต้น โดยอนุญาตให้ใช้เฉพาะปุ๋ยอินทรีย์ ได้แก่ ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมักชีวภาพ และปุ๋ยพืชสดเท่านั้น รวมถึงมีการจัดพื้นที่ปลูกพืชไม่ให้ปนเปื้อนกับแปลงปลูกพืชแบบเคมี และห่างไกลจากแหล่งมลภาวะ เช่น โรงงานอุตสาหกรรมหรือถนนหลัก อีกทั้งยังมีการจัดการระบบน้ำและการใช้น้ำที่ไม่ปนกับแหล่งน้ำธรรมชาติที่เสี่ยงต่อการปนเปื้อนสารเคมีและสารต้องห้ามอื่น ๆ เป็นต้น

กว่าจะมาเป็นผู้ปลูกผักอินทรีย์

        หากผลิตเพื่อเป็นอาชีพนั้น จะต้องมีมาตรฐานรองรับ จึงต้องมีการวางระบบตั้งแต่เริ่มต้น อาทิ ด้านพื้นที่ที่เหมาะสม แหล่งน้ำที่ไม่เสี่ยงต่อการปนเปื้อน ความรู้เรื่องดินและการปรับปรุงดินที่ไม่ใช้สารเคมี การจัดการองค์ความรู้ที่ต้องเป็นเชิงวิทยาศาสตร์ที่สามารถหาปัจจัยการผลิตต่าง ๆ ทดแทนการใช้สารเคมีได้ เป็นต้น ซึ่งจำเป็นต้องมีการเรียนรู้จึงจะสามารถผลิตพืชอินทรีย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ตัวอย่างข้อกำหนดของการปลูกผักอินทรีย์ที่ควรรู้

-          ห้ามใช้สารเคมีสังเคราะห์ทุกชนิด

-          เน้นการปรับปรุงบำรุงดินด้วยสารอินทรียวัตถุ เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยชีวภาพ ตลอดจนการปลูกพืชหมุนเวียนเพื่อให้พืชแข็งแรง

-          ป้องกันการปนเปื้อนของสารเคมีจากภายนอกฟาร์ม ทั้งดิน น้ำและอากาศ โดยสร้างแนวกันชนด้วยการขุดคูหรือปลูกพืชยืนต้น

-          การกำจักวัชพืช ใช้การเตรียมดินที่ดีและแรงงานคนหรือเครื่องมือกล แทนการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช

-          เคารพสิทธิมนุษย์และสัตว์ เช่น การใช้ปุ๋ยคอกจะต้องมาจากฟาร์มสัตว์เลี้ยงที่ปล่อยธรรมชาติ เป็นต้น

-          รักษาความหลากหลายทางชีวภาพ โดยการรักษาไว้ซึ่งพันธุ์พืชหรือสัตว์ สิ่งมีชีวิตทุกชนิดที่มีอยู่ในท้องถิ่น

        จะเห็นได้ว่า กว่าจะสามารถทำการปลูกพืชเกษตรอินทรีย์ได้นั้นไม่ง่ายเลย เพราะนอกเหนือจากการดูแลพืชพันธุ์ให้เจริญเติบโตด้วยวิธีธรรมชาติแล้ว ยังต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศน์รอบตัวอีกด้วย

หัวใจของเกษตรอินทรีย์

        การปลูกพืชแบบเกษตรอินทรีย์ นอกจากจะสามารถสร้างรายได้ที่ดีขึ้นให้กับเกษตรกร ที่สำคัญคือไม่มีความเสี่ยงจากอันตรายที่มาจากการใช้สารเคมีทั้งตัวผู้ปลูก ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม

หลักการผลิตผักอินทรีย์

1.       เลือกพื้นที่ที่ไม่เคยทำการเกษตรเคมีมาไม่น้อยกว่า 3 ปี

2.       เป็นพื้นที่ที่ค่อนข้างดอนและโล่งแจ้ง

3.       อยู่ห่างจากโรงงานอุตสาหกรรม

4.       อยู่ห่างจากแปลงที่ใช้สารเคมีและปุ๋ยเคมี

5.       ห่างจากถนนหลวงหลัก

6.       มีแหล่งน้ำที่ปลอดสารพิษ


สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์

เลขที่ 6 หมู่ 4 ตำบลหัวไทร อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา

โทรศัพท์ 038-500000 ต่อ 7600, 0944791659